เคียวโตะ หรือ นครเกียวโต (ญี่ปุ่น: 京都市 Kyōto-shi ?) เป็นเมืองเอกของจังหวัดเคียวโตะ และเป็นอดีตเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดว่าเป็นศูนย์กลางของเกาะฮนชู นอกจากนี้ นครเคียวโตะยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของ กลุ่มเมืองใหญ่ "เคฮันชิง" และนครเคียวโตะ ยังจัดว่าเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 11 ของโลก ในปี พ.ศ. 2555
จุดเริ่มต้น
แม้วาจะมีหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีการตั้งถิ่นฐานที่เกาะญี่ปุ่นประมาณ 10,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่ก็แทบจะไม่พบหลักฐานกิจกรรมของมนุษย์ใดๆเลยในบริเวณนี้ จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ที่มีการค้นพบหลักฐานของมนุษย์ที่ศาลเจ้าชิโมะงะโมะ
เฮอังเกียว
ศตวรรษที่ 8 นักบวชในพุทธศาสนานั่นมีอิทธิพลอย่างมาก ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการในราชสำนักของสมเด็จพระจักรพรรดิ ทำให้จักรพรรดิตัดสินพระทัยที่จะย้ายนครหลวงไปยังภูมิภาคที่ห่างไกลจากอิทธิพลของพุทธศาสนา จักรพรรดิคัมมุ ทรงเลือกชัยภูมิแห่งใหม่ ที่หมู่บ้านอุดะ
นครหลวงแห่งใหม่นี้ได้รับนามว่า เฮอังเกียว (平安京, "นครหลวงแห่งสันติและสงบสุข") ซึ่งนครหลวงแห่งใหม่นี้ได้แนวคิดมาจากนครหลวงฉางอานแห่งราชวงศ์ถัง[1] เพียงแต่ปรับขนาดให้เล็กลง และต่อมาใน ค.ศ. 794 ก็ได้กลายเป็นนครที่ตั้งของราชสำนัก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเฮอังในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามแม้ว่าภายหลัง รัฐบาลทหารจะตั้งเมืองอื่นๆเป็นศูนย์กลางทางอำนาจการปกครองที่ไม่ใช่เคียวโตะ (รัฐบาลโชกุนมุโระมะชิ) เช่น คะมะกุระ (โดยรัฐบาลโชกุนคะมะกุระ) หรือ เอะโดะ (โดยรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ) แต่โดยทางนิตินัยแล้ว นครหลวงของญี่ปุ่นยังคงเป็นเคียวโตะอันเป็นนครที่พระจักรพรรดิทรงประทับอยู่ จนถึง ค.ศ. 1869 (ยุคฟื้นฟูจักรวรรดิ) ที่ราชสำนักได้ย้ายไปยังกรุงโตเกียว
เคียวโตะได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามโอนินในช่วง ค.ศ. 1467-1477 และไม่ได้รับการบูรณะจนล่วงเข้าสู่กลางทศวรรษที่ 16 โทะโยะโทะมิ ฮิเดะโยะชิได้บูรณะเมืองขึ้นมาอีกครั้งโดยการสร้างถนนสายใหม่กลางกรุงเคียวโตะจนมีถนนเชื่อมเมืองฝั่งเหนือกับฝั่งใต้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และมีผังเมืองแบบบล็อกสี่เหลี่ยมแทนที่ผังเมืองแบบโบราณ ฮิเดะโยะชิยังได้สร้างกำแพงดินขึ้นมาเรียกว่า โอะโอะอิ (御土居) รอบเมือง ถนนเทระมะชิในกลางกรุงเคียวโตะจึงเป็นศูนย์กลางของวัดพุทธเมื่อฮิเดะโยะชิเริ่มรวบรวมวัดให้เป็นปึกแผ่น ในสมัยเอะโดะ เคียวโตะก็เป็นหนึ่งในสามเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับนครเอะโดะและนครโอซะกะ
ในช่วงกบฏฮะมะงุริ ในปี ค.ศ. 1864 บ้านเรือน 28,000 หลังได้รับความเสียหาย และการย้ายเมืองหลวงของพระจักรพรรดิในปี ค.ศ. 1869 ทำให้เศรษฐกิจของเคียวโตะอ่อนแอลง จากนั้นมีการตั้งเมืองใหม่ของเคียวโตะในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1889 มีการขุดสร้างคลองทะเลสาบบิวะในปี ค.ศ. 1890 นำน้ำมาหล่อเลี้ยงเมืองจนกระทั่งพัฒนาไปเป็นเมืองที่เจริญก้าวหน้าจนมีประชากรเกินหนึ่งล้านคนในปี 1932
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาเคยมีแผนจะทิ้งระเบิดปรมาณูที่เคียวโตะ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นศูนย์กลางทางปัญญาของญี่ปุ่น และมีชาวเมืองที่"ดูมีความสุขกับการสร้างอาวุธ" แต่ในท้ายที่สุด เฮนรี แอล. สติมสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม ในยุคของประธานาธิบดีรูสเวลต์และประธานาธิบดีทรูแมนได้ถอดชื่อเคียวโตะออกจากรายชื่อเมืองที่จะทิ้งระเบิดปรมาณูในช่วงปลายสงคราม และเปลี่ยนเป็นเมืองนะงะซะกิแทน นอกจากนี้ เมืองยังรอดพ้นจากการทิ้งระเบิดสงครามในสงครามอีกด้วย แม้จะมีการโจมตีทางอากาศอยู่บ้างประปราย
ผลจากการตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้เคียวโตะเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองในญี่ปุ่นที่ยังมีสิ่งก่อสร้างในยุคก่อนสงครามหลงเหลืออยู่มากมาย เช่น บ้านโบราณที่รู้จักกันในชื่อ มะชิยะ แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองก็กำลังทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของเคียวโตะค่อยๆถูกสถาปัตยกรรมใหม่ๆกลืนหายไป
เคียวโตะมีสถานะเป็นนครโดยรัฐบัญญัติของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1956 และในปี 1997 เคียวโตะก็เป็นสถานที่จัดการประชุมครั้งสำคัญว่าด้วยเรื่องการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก จนมีข้อบังคับออกมาเป็นพิธีสารเกียวโต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น